สำนักข่าวไทยรายงานว่า พลาสติก และโฟม เป็นวัสดุที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ของกินของใช้ที่เพิ่มความสะดวกให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้กลายเป็นขยะมากถึง 2 ล้านตันต่อไป แต่มีการนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 500,000 ตัน/ปีเท่านั้น ทำให้เกิดขยะคงเหลือที่ตกค้างจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้พะยูนมาเรียมตายไปอย่างน่าเสียดาย
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการวิจัยนวัตกรรมไบโอพลาสติก ซึ่งพัฒนามาจากพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะลัง มาผสมกับยางพารา ได้เป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติเหนียวทนทาน ในมาตรฐานของฟู้ดเกรด จึงนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ทุกประเภท ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีอันตรายต่อการสัมผัสหรือการนำเข้าสู่ร่างกาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่ได้สามารถย่อยสลายได้ในเวลารวดเร็วใน 3-6 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยโฟมรีไซเคิลทดแทนวัสดุก่อสร้างฝีมือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี เป็นแนวคิดที่จะลดปริมาณขยะประเภทโฟม ซึ่งพบมากในแหล่งท่องเที่ยว นำมาผ่านกระบวนการทางเคมี จนได้โฟมที่ละลายเหนียว ผสมนาโนซิงค์ กับวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกหอยบดละเอียด และขี้เลื่อย หรือแกลบ หรือขุยมะพร้าว ได้เป็นผลิตภัณฑ์แผ่นปูพื้น แผ่นกระเบื้องจากวัสดุรีไซเคิลในมาตรฐาน มอก. และได้คุณสมบัติพิเศษทนไฟ และสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้
การรีไซเคิลขยะพลาสติกและขยะจากโฟม จึงอาจเป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้ปริมาณขยะเหล่านี้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมามีประโยชน์และมีมูลค่าได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย