img
:::

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทำความรู้จักกับ 5 วันสำคัญในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทำความรู้จักเทศกาลตรุษจีน ภาพจาก/คลังภาพ pixabay
ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทำความรู้จักเทศกาลตรุษจีน ภาพจาก/คลังภาพ pixabay
เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่】ผู้แปล/นงค์รักษ์ เหล่ากอคำ (李慧毓)

[เว็บไซต์ข่าวรอบโลกสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่] ตามรายงานข่าวของ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ วันตรุษจีน หรือ วันปีใหม่ของคนเชื้อสายจีน มีการเฉลิมฉลองติดต่อกันนานหลายวัน แต่วันนี้เราขอมาแนะนำ 5 วันสำคัญในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยจะเริ่มตั้งแต่ ‘วันตรุษจีนเล็ก’ ไปจนถึง ‘วันตรุษจีน’ ว่าแต่ละวัน คนเชื้อสายจีนเขาทำอะไรกันบ้าง ซึ่ง 5 วันสำคัญ ช่วง ‘เทศกาลตรุษจีน’ มีดังนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม : สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอวิ๋นหลิน ยึดไส้กรอกที่มีเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบุผู้รับเป็นคนไทย  

1. วันตรุษจีนเล็ก (小年 เสี่ยวเหนียน)

ตรงกับวันที่ 23 หรือ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน โดยปีนี้ 2023 ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มกราคม วันตรุษจีนเล็ก ตามความเชื่อของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวันที่ ‘เทพเจ้าแห่งเตา’ ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์เตาไฟในครัวและดูแลทุกคนในครอบครัว จะกลับสวรรค์ไปรายงานเรื่องราวของแต่ละครัวเรือนให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทราบ ดังนั้น คนจีนจึงบูชา ‘เทพเจ้าแห่งเตา’ มีนัยว่าขอให้เทพเจ้าแห่งเตารายงานแต่สิ่งดีดีให้กับเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งกิจกรรมหลัก ๆ ในวันตรุษจีนเล็กที่ชาวจีนนิยมทำมาตั้งแต่โบราณคือ ทำความสะอาดบ้านเรือน และทำอาหารอร่อย ๆ กินกันพร้อมหน้าพร้อมตา

2. วันเง็กเซียนฮ่องเต้ ตัดสินชะตามนุษย์

หลังจากที่ ‘เทพเจ้าแห่งเตา’ กลับสวรรค์ไปรายงานเรื่องราวของมนุษย์โลกให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทราบ พอถึงวันที่ 25 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ก็จะเป็นวันที่เง็กเซียนฮ่องเต้ตัดสินว่า ใครจะได้รับรางวัล และรับพรจากสวรรค์บ้าง ครอบครัวจีนสมัยโบราณนิยมบูชาและขอพรจากเง็กเซียนด้วยอาหารที่ทำจาก ‘เต้าหู้’ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะทำอาหารหลักในการบูชาแตกต่างกันออกไป อาทิ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือตงเป่ย นิยมทำ เหนียนโต้วเปา (粘豆包) ซาลาเปาไส้ถั่วแดง โดยถือเป็นอาหารหลักในวันตรุษจีนของคนในพื้นที่นั้นอีกด้วย

3. วันกินเนื้อแห่งปี (年肉)

ตรงกับวันที่ 26 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันกินเนื้อแห่งปี สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนจีนโบราณได้อย่างดี โดยสมัยก่อน ‘จีน’ เป็นสังคมการเกษตร ทำไร่ทำนา อาหารที่แต่ละบ้านทำกินกัน ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์มากนัก ยกเว้นในช่วง ‘เทศกาลตรุษจีน’ คนจีนโบราณเลยถือโอกาสให้ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ปีใหม่ เป็นโอกาสอันดีในการกินอาหารดีดี อุดมด้วยเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเนื้อหมู หรือเนื้อวัว โดยครอบครัวไหนที่เลี้ยงสัตว์เป็นของตัวเอง เช่น เลี้ยงหมู ก็จะนำมาทำอาหารกินกัน หากครอบครัวไหนไม่ได้เลี้ยง ก็ไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาด เพื่อมาทำกับข้าวกินเนื้อฉลองข้ามปี 

อ่านข่าวเพิ่มเติม : หลักสูตรแปลภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ของรัฐบาลเมืองเถาหยวน วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการสมัคร  

4. วันสิ้นปี

วันสิ้นปี ตรงกับวันที่ 31 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน หรือก่อนวันตรุษจีน 1 วัน วันสิ้นปี (除夕ฉูซี) ที่คนไทยเรียกว่า วันไหว้ เป็นวันที่ยังคงมีความสำคัญอย่างมากในสังคมจีนปัจจุบัน อาทิเช่น คนจีนจะตกแต่งบ้านด้วย 春聯 (ชุนเหลียน) โดยตรงกลางของประตูจะติดตัวอักษร 福 (ฝู) ที่แปลว่าความโชคดีมีสุขแต่ถ้าเราสังเกตให้ดี คนจีนมักจะติดตัวอักษร 福 แบบกลับหัว โดยสาเหตุที่ติดอักษรมงคล 福 แบบกลับหัว เพราะว่า เป็นการเล่นคำ 倒 (อ่านว่า ต้าว) ที่มีความหมายว่ากลับหัว กลับด้าน กับ 到 ที่อ่านว่าต้าวเหมือนกัน แต่แปลว่า มาถึง ทำให้การแปะอักษร 福 แบบนี้ จึงมีความหมายว่า 福到了! ความโชคดีมีสุขมาเยือนเราแล้วนั่นเอง และในวันนี้ยังมีการกินข้าวร่วมกันในคืนสิ้นปี (吃年夜飯) เทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ของจีน จะเป็นช่วงที่ทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ จะกลับมารวมตัวกัน โดยอาหารจานหลักของวันนี้จะเป็น ‘เกี๊ยว’ ที่มีความหมายแฝงว่า การรวมตัวกันสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น อีกกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ แจกหงเปา (紅包) ให้กับเด็ก ลูกหลานในบ้าน โดยมักจะให้หลังจากกินข้าวคืนสิ้นปีเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้กิจกรรม守歲 (โส่วซุ่ย) เฝ้ารอข้ามปี หรือ Countdown โดยคนในครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะไม่ยอมหลับข้ามปี หลายบ้านจะจุดพลุจุดประทัดฉลองปีใหม่จีนกันทั้งคืนจนถึงเช้าก็มี

5. เข้าสู่วันตรุษจีน (春節ชุนเจี๋ย)

เข้าสู่ วันตรุษจีน (春節ชุนเจี๋ย) หรือ 初一 (ชูอี) ในภาษาแต้จิ๋วที่เราคุ้นเคย ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนเรียก ชิวอิก หรือ วันเที่ยว ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 วันแรกเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติจีน ตามประเพณีจีนที่ยังคงยึดถือในสมัยนี้คือ เป็นวันพักผ่อน ถือเป็นวันเดินทางเยี่ยมญาติ เพื่อ 拜年 (ไป้เหนียน) อวยพรปีใหม่แก่กัน

ขอบคุณเนื้อหาจาก: กรุงเทพธุรกิจ

มาเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading