เพื่อกระตุ้นให้บุตรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่อาศัยช่วงวันหยุดในการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของคุณตาคุณยาย เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของครอบครัว เรียนรู้และแลกเปลี่ยนในด้านภาษาและวัฒนธรรม และกลับมานำเสนอผลการเรียนรู้ที่ไต้หวัน ในปีนี้ (2019) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน (สตม.ไต้หวัน) ได้เปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพบุตรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในต่างประเทศ” ในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน และมีการเพิ่มประเภททีมของผู้เข้าร่วม “ผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน” เป็นครั้งแรกด้วย โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้จัดงานเฉลิมฉลองก่อนออกเดินทาง นายเหลี๋ยง กั๋วหุ้ย (梁國輝) รองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหวังว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะสามารถเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนระหว่างประเทศผ่านโอกาสในการกลับบ้านเกิดเรียนรู้และแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ นอกจากนี้ อาจารย์ และนักสังคมสงเคราะห์ที่เดินทางไปด้วย หลังจากที่กลับมาไต้หวันก็สามารถโปรโมทการศึกษาด้านวัฒนธรรมต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายมุ่งใต้ใหม่ด้วย
โครงการดังกล่าวมีทีมผู้สมัครถึง 210 ทีม หลังจากนั้น คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเหลือ 101 ทีม ประกอบไปด้วยทีมอาจารย์ 8 ทีม รวม 24 คน, ทีมนักสังคมสงเคราะห์ 2 ทีม รวม 6 คน, ทีมที่มีความสนใจเหมือนกัน 1 ทีม รวม 3 คน และทีมครอบครัว 90 ทีม รวม 180 คน รวมผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 213 คนโดยจะออกเดินทางไปยังอินโดนีเซีย, กัมพูชา, ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, มาซิโดเนียและจีน รวม 14 ประเทศ
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะใช้ช่วงเวลาปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนเดินทางกลับบ้านเกิดพ่อแม่เป็นเวลา 14 วัน เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และภาษา เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถระดับนานาชาติ
การถ่ายทอดการสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายวัฒนธรรม เชื่อมโยงภาษาแม่และครอบครัว
หลั๋ว หงเจี๋ย (羅弘杰) หนึ่งในบุตรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ได้รับคัดเลือก คุณตาของเขาทำสวนพริกไทยอยู่ที่อินโดนิเซีย และคุณแม่ชาวอินโดนิเซียก็เติบโตอยู่ในสวนแห่งนั้นและทานอาหารที่ปรุงด้วยพริกไทยอยู่เป็นประจำ หลั๋วจึงได้ตั้งชื่อแผนการเดินทางของตนว่า“วัฒนธรรมพริกไทยอินโดนิเซีย”และหวังว่า การเดินทางกลับอินโดนิเซียในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้ขั้นตอนการเพาะปลูกและการแปรรูปพริกไทยด้วย
เฉิน จิ้งฮวา (陳靜華) นักศึกษาภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง ได้วางแผนการเดินทางของตนเองในการกลับไปเรียนรู้ตนเองและรากเหง้าของครอบครัว โดยเธอได้แบ่งหัวข้อการเรียนรู้ออกเป็น 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์ของครอบครัว วัฒนธรรม อาหาร การแลกเปลี่ยนภาษา และประสบการณ์การทำงาน โดยในระหว่างการเดินทาง เธอก็หวังที่จะได้มีปฎิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง เธอต้องการสำรวจและเปรียบเทียบประวัติศาสตร์วัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนา และอาหารการกินของไทยและกัมพูชา รวมถึงแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และไต้หวันด้วย
งานนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการภาคฤดูร้อนและอัพโหลดลงเวปจะมีขึ้นต้นเดือนพ.ย.
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้มีความเข้าใจเนื้อหาของโครงการมากขึ้น สตม.ไต้หวันได้เชิญผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการในปี 2018 หลั๋วผินซุน (羅品勛) มาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ที่ตนเองและคุณพ่อหลั๋ว ซือลั่ว (羅斯洛)ได้เตรียมตัวก่อนการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งประสบการณ์และความรู้สึกหลังร่วมโครงการ ทำให้ผู้ได้รับคัดเลือกในปีนี้ได้รู้วิธีการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง และยังได้รับแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนและนำเสนอรายงานผลลัพธ์ของโครงการหลังจากกลับมาไต้หวันด้วย
นายเหลี๋ยง กั๋วหุ้ย (梁國輝) รองผู้อำนวยการสตม.ไต้หวันกล่าวว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่กว่า 540,000 คน ย้ายมาอยู่ไต้หวันเพราะการแต่งงาน โดยเป็นสตรีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มากกว่า 410,000 คน และด้วยความได้เปรียบทางภาษาและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาไต้หวันให้ไต้หวันมีความหลากหลายและมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น
สตม.ไต้หวันจะจัดงานนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการภาคฤดูร้อนในเดือนพ.ย. และจะคัดเลือก 12 ทีมยอดเยี่ยม พร้อมมอบรางวัลบัตรกำนัลมูลค่า 5,000 เหรียญไต้หวัน สำหรับผลสัมฤทธิ์ของแต่ละกลุ่มจะนำลงเวปไซด์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ (新住民培力發展資訊網) ให้คุณได้เข้าไปดูและดาว์นโหลด ซึ่งจะทำให้คุณมีความเข้าใจในวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มากขึ้น เสริมสร้างความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกันด้วย