img
:::

กรมอนามัยของไทยเตือนพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรเก็บน้ำฝนมาใช้ หากจำเป็นควรทำความสะอาดที่รองรับน้ำฝน

กรมอนามัยของไทยเตือนพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรเก็บน้ำฝนมาใช้ หากจำเป็นควรทำความสะอาดที่รองรับน้ำฝน

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ ฝนที่ตกลงมาอาจเกิดความสกปรกและความเสี่ยงจากสารเคมีได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ควัน หรือก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมทั้งความสะอาดหลังคาที่รองรับน้ำฝนและภาชนะเก็บกักน้ำฝน การจะเก็บน้ำฝนมาเป็นน้ำกินน้ำใช้ต้องระวัง 

จากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนของกรมอนามัยพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคุณภาพน้ำฝนในครัวเรือนทั่วประเทศผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค เฉลี่ยพียงร้อยละ 23.40 ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานส่วนใหญ่พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย รองลงมาพบสี ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง เกินเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากการดูแลความสะอาดของพื้นหลังคา รางรองรับน้ำฝน ภาชนะบรรจุน้ำฝนไม่ถูกหลักการสุขาภิบาลน้ำบริโภค 

หากจำเป็นที่จะเก็บน้ำฝนก็ต้องทำให้ปลอดภัย โดยเริ่มจากการสำรวจความพร้อมของรางรองรับน้ำฝน ทำความสะอาดเก็บกวาดสิ่งสกปรกบนหลังคาและรางรองรับน้ำฝนให้เรียบร้อย สำหรับภาชนะบรรจุน้ำฝนควรสำรวจดูความชำรุดแตกรั่ว ควรล้างให้สะอาดทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะภายในต้องทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่หรือฉีดพ่นน้ำคลอรีนในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างด้วย ขณะรองน้ำฝนควรปล่อยให้ฝนตกชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศ บนหลังคาและรางรับน้ำฝนทิ้งไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยรองน้ำฝนใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อเต็มแล้วปิดฝาภาชนะให้มิดชิดโดยใช้ตาข่ายพลาสติก ปิดปากภาชนะให้แน่นก่อนปิดฝาเพื่อป้องกันสัตว์ หรือแมลง ควรดูแลความสะอาดของภาชนะเก็บน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปต้มให้เดือดประมาณ 1 นาที เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหาร

ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์

กรมอนามัยของไทยเตือนพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรเก็บน้ำฝนมาใช้ หากจำเป็นควรทำความสะอาดที่รองรับน้ำฝน (ภาพจาก pixabay)

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
回到頁首icon
Loading