พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ยังคงเดินหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามเจตนารมณ์ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจนถึงการมีอยู่ของท่อร้อยสายสื่อสารในปัจจุบัน ทั้งจำนวนท่อร้อยสายสื่อสารว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร ในเส้นทางใดบ้าง และมีสภาพสามารถใช้งานได้หรือไม่ ที่สำคัญ ปัญหาสายสื่อสารไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากสายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาที่สั่งสมมานาน กทม.จึงได้เร่งหาทางออกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมเสนอโครงการต่อบอร์ดดีอีเพื่อพิจารณา กระทั่งมีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 61 เห็นชอบให้ กทม.ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่ง กทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะเป็นวิสาหกิจในกำกับเป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในการมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 อีกทั้งอำนาจหน้าที่ในการดูแลถนนและทางเท้าตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 รวมถึงพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
นอกจากการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองแล้ว กทม.ยังมีภารกิจในการสนับสนุนหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงการใช้ระบบสายสื่อสารในภารกิจของกรุงเทพมหานคร เช่น ระบบกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวกับการป้องกันเหตุอาชญากรรม หรือรักษาความปลอดภัย ด้านการจราจร เพื่อจัดเก็บข้อมูลจราจร ข้อมูลเส้นทาง สภาพพื้นผิวจราจร และข้อมูลอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและพัฒนาระบบโครงข่ายการจราจร ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งเตือนประชาชนเตรียมความพร้อม หากมีฝนตกหนัก ด้วยการส่งผ่านข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสาธารณภัยอื่นๆ ด้านการสาธารณสุข เพื่อให้การบริการด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วย จำเป็นต้องมีการส่งต่อข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ด้านการทะเบียน เพื่อพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนทั้งหมด ด้านการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สื่อการสอน และรูปแบบการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และด้านอื่นๆ ตามอำนาจหน้าที่และอำนาจเพื่อนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯ สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต) 2. ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 - หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) 3. ถนนวิทยุ (แยกเพลินจิต - หน้าซอยร่วมฤดี) และ 4. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ - ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้ประกาศเชิญชวนผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้สนใจยื่นความจำนงเช่าท่อร้อยสายสื่อสาร (ไมโครดัก) และดาร์กไฟเบอร์ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่แล้ว
ข้อมูลข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์