img
:::

การยางแห่งประเทศไทยเดินหน้าผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางของโลก

การยางแห่งประเทศไทยเดินหน้าผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางของโลก

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงถุงมือยางไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก ว่า ขณะนี้ถุงมือยางไทยกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และถือเป็นสินค้าแชมป์เปี้ยนในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของไทย โดยมีช่วงของการเติบโตเพิ่มขึ้น จากช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 การส่งออกอยู่ที่ 12-15% ต่อปี มูลค่าการส่งออกประมาณ 37,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าจะขยับขึ้นไปถึงเท่าตัวหรือประมาณ  30% ต่อปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ภาครัฐกำลังหาแนวทางส่งเสริมการผลิตถุงมือทางการแพทย์ โดยนำน้ำยางในประเทศผลักดันเข้าสู่การแปรรูปเพื่อผลิตถุงมือยางมากขึ้น คาดจะส่งดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่ง กยท.มีนโยบายจะผลักดันและประกาศจุดยืนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ โดยที่ผ่านมา กยท.ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ

สำหรับความต้องการใช้ถุงมือยางพาราทั้งโลกจะอยู่ที่ปีละ 250,000 ล้านชิ้น โดยสหรัฐอเมริกาจะใช้ถุงมือยางพารามากที่สุดปีละ 60,000 ล้านชิ้น ประเทศในกลุ่มยุโรปปีละ 50,000-60,000 ล้านชิ้น ซึ่งมาเลเซียครองส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางพารามากที่สุดถึง 60% รองลงมา คือ ไทย 15% นอกจากนี้ จะเป็นจีน อินโดนีเซียและเวียดนามตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ราคาทุนในการผลิตถุงมือยางพาราต่อชิ้นนั้น ถุงมือยางพาราไทยจะใช้ต้นทุนสูงกว่ามาเลเซีย คือ มีต้นทุน 0.08 บาทต่อชิ้น ส่วนมาเลเซียมีต้นทุนการผลิต 0.03 บาทต่อชิ้น นอกจากนี้ ไทยยังมีอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา คือ การขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางพาราเป็นเรื่องค่อนข้างยากมีหลายขั้นตอน ซึ่งปัญหานี้จะต้องนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
回到頁首icon
Loading