กรมควบคุมโรคไต้หวันรายงานว่า ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคประเทศจีนออกแถลงการณ์ว่า กรุงปักกิ่งแถลงยืนยันการพบผู้ป่วยกาฬโรค 2 ราย ซึ่งเป็นสามีและภรรยาที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยสามีเริ่มมีไข้และหายใจลำบากในช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และต่อมาภรรยาของเขาก็มีอาการเหมือนกัน ทั้งคู่จึงเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลท้องถิ่น หลังจากนั้นในวันที่ 11 พ.ย. ได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเจายางในกรุงปักกิ่ง โดยมีอาการป่วยหนัก 1 ราย ทางการปักกิ่งได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การแยกและการสอบสวนการติดต่อ และเรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปยังพื้นที่ที่ติดเชื้อและสัมผัสหนู ซึ่งในปีนี้ ประเทศจีนพบผู้ป่วยกาฬโรคจำนวน 3 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) และมีการระบาดของโรคอย่างหนักในปี 2009 ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวน 12 ราย และเสียชีวิต 3 ราย และในปี 2010 มีผู้ป่วยลดลงเหลือ 7 ราย หลังจากนั้นมีผู้ป่วยทุกปีประมาณ 0-3 ราย
กรมควบคุมโรคกล่าวว่า เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) โดยแบคทีเรียชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดเล็ก เช่น หนูและกระรอก โดยชนิดของอาการแบ่งออกเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองโดยอาการเริ่มต้นคือการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ต่อมาอาจทำให้เชื้อแพร่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งเยื่อหุ้มสมอง สำหรับกาฬโรคปอด จะทำให้ปอดบวมการอักเสบ มีอาการไอ หายใจตื้น เจ็บหน้าอก หรือบางรายอาจทำให้มีน้ำมูกไหลหรือน้ำมูกปนเลือด รวมไปถึงอาจทำให้การหายใจล้มเหลวหรือช็อก และอาจทำให้เกิดการระบาดระหว่างคนสู่คนต่อไป
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการเสียชีวิตคือ 30-60% แต่การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยสามารถลดอัตราการตายของกาฬโรคอย่างมีนัยสำคัญ ซึงไต้หวันไม่มีการระบาดของโรคมาตั้งแต่ปี 1953 แล้ว
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคประเทศจีนอธิบายว่า เคสผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดการติดเชื้อใด ๆ ในโรงพยาบาล แต่ผู้ที่ติดต่อกับผู้ป่วยยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และจะตรวจสอบแหล่งที่มาของการติดเชื้อในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน กรมควบคุมโรคไต้หวันจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวในจีนอย่างใกล้ชิด หากมีการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อในชุมชนก็จะมีการออกคำเตือนเรื่องการระบาดเพื่อเพื่อเตือนประชาชนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวให้ระมัดระวังทันที