นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับกองทุนแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือยูเอ็นเอฟพีเอ จัดทำข้อมูลเรื่องโฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย-อายุยืน โดยระบุถึงรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนไป พบว่า ครัวเรือนคู่สามี-ภรรยา ไม่มีลูกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไม่มีลูกคือ มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกจนถึงอายุ 20 ปี มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.92 ล้านบาท และคิดว่าลูกเป็นภาระทำให้ขาดอิสระ ต้องทำงานมากขึ้น สถานดูแลเด็กเล็กไม่เพียงพอ การแต่งงานช้าอายุมากขึ้น ทำให้มีบุตรยาก ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มีลูกน้อยลง แต่มีจำนวนแม่วัยรุ่นและการแต่งงานอยู่กินกันก่อนอายุ 18 ปีเพิ่มสูงขึ้น
พร้อมกันนี้ยังพบด้วยว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดียว โดยในปี 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.4 ล้านครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดียวมากที่สุดในสัดส่วน 80% โดยจากข้อมูลระบุว่า ในปี 58 แม้จะมีการแต่งงาน 3 แสนคู่ แต่ก็หย่าร้างกันถึง 1 แสนคู่ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นต้นเหตุของปัญหา ทำให้เกิดความท้าทาย คือ อาจทำให้เกิดความยากจน ไม่สามารถทำงานในระบบได้เพราะต้องเลี้ยงลูก ไม่มีที่อยู่อาศัย มีภาวะเครียด ซึมเศร้า และคนกลุ่มนี้ยังขาดการช่วยเหลือ ด้านบริการดูแลเด็กเล็ก การส่งเสริมการจ้างงาน การให้บริการคำปรึกษา และสนับสนุนทางจิตใจ
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ครัวเรือนไทยกำลงกลายเป็นครัวเรือนอยู่คนเดียว โดยในปี 56 คนไทย 2.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่กำลังอยู่คนเดียวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในปี 76 จะเพิ่มสูงถึง 20% ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเป็นวัยแรงงาน ขณะเดียวกันครัวเรือนไทยยังเป็นครอบครัวข้ามรุ่น คือเป็นครอบครัวที่มีปู่ย่าตายายอยู่กับหลานเพียงลำพัง ประมาณ 4 แสนครัวเรือน และ 3 ใน 4 อยู่ในชนบท มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเดือนละ 12,068 บาท โดยมีเงินจากลูกส่งมาให้ รายได้จากการทำงานด้วยตัวเอง และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์