นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พฤติกรรมการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศรูปแบบใหม่ นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาการจัดหางาน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น เฟซบุ๊กหรือไลน์ แทนการเดินทางเข้าไปชักชวนคนหางานในพื้นที่ต่างๆ หรือโดยอาศัยความใกล้ชิดจากญาติ พี่ น้อง โดยตำแหน่งงานที่แอบอ้างส่วนใหญ่จะเป็นกรรมกร พนักงานเสริฟ พนักงานนวด คนงานในภาคเกษตรกรรม เก็บผลไม้ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และคนงานในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนประเทศที่มีการหลอกลวงไปทำงาน ได้แก่ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย โปแลนด์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฮอลแลนด์ กาตาร์ เยอรมนี อังกฤษ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ และมาเก๊า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้เกิดการชะลอการจ้างงานในประเทศและการส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ แต่ว่ายังมีสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ลงประกาศโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการชักชวนไปทำงานต่างประเทศทางเฟซบุ๊กหรือไลน์อยู่ ซึ่งทำให้การสืบหาตัวผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและทำรายงานการสืบสวน หากพบผู้กระทำความผิด จะดำเนินคดีกฎหมายอย่างจริงจัง
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อไปว่า บริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศและจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 130 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพมหานคร จำนวน 93 แห่ง และส่วนภูมิภาคอีก 37 แห่ง ยังพบการให้บริการปกติ เพราะมีการกำกับที่เข้มงวดภายใต้กฎหมายของกรมการจัดหางาน สำหรับผู้สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศ ควรศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2
ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์