การเสียชีวิตในประเทศไทยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อหรือเกิดจากเชื้อโรค แต่สาเหตุมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย การสัมผัสควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ และการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจาก NCDs ถึง 400,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ
จากข้อมูลกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2023 พบว่า มีคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 740,000 รายต่อปี โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70,000 รายต่อปี ซึ่งเท่ากับชั่วโมงละ 8 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ 46,000 ล้านบาทต่อปีศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นอกจากนี้ โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด มีผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยประมาณ 306,995 ราย เสียชีวิตประมาณ 80,000 รายต่อปี มีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเฉลี่ย 12,000 ล้านบาทต่อปี โรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่พบมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสร้างความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพและชีวิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง
เพื่อแก้ไขปัญหา ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนายารักษาโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคร้ายแรงอื่น ๆ โครงการวิจัยนี้จะช่วยพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ ๆ และลดระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วย รวมถึงยกระดับศูนย์วิจัยให้เป็นผู้นำด้านการวิจัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในการได้รับการรักษาที่ทันสมัย ยังช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยได้รับประสบการณ์จากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย