สำนักข่าวเดลินิวส์รายงานว่า ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่าจากปัญหาฝุ่นละอองในอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานอีกครั้งและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง อย่างเช่น การสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง N95 ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่อาจใช้วิธีการอื่นทดแทนหากเกิดขาดตลาด ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก
โดยทีมวิจัยจากนาโนเทค ได้มีการพัฒนางานวิจัย “แผ่นกรองจากเส้นใยนาโน”ที่จะสามารถตอบโจทย์ดังกล่าว โดยมีการพัฒนาเส้นใยและเทคโนโลยีการขึ้นรูปสิ่งทอให้เป็นแผ่นกรองจากเส้นใยนาโนสมบัติพิเศษด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “อิเล็กโตรสปินนิ่ง” ทำให้ได้เส้นใยขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสมบัติสามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาดระหว่าง 0.3 - 2.5 ไมครอน
ดร.วรล กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกต่อยอดให้อยู่ในรูปแผ่นกรอง ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตร่วมกับหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา เพื่อเป็นอีกทางเลือกของการนำเทคโนโลยีสิ่งทอสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดเพื่อเพิ่มสมบัติพิเศษและให้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแผ่นกรองนาโน “ n-Breeze Anti PM 2.5” ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยธรรมดายังคงมีน้ำหนักเบา รูปแบบการใช้งานสะดวก และยังสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจากการทดสอบแล้วในระดับห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาด 0.3 – 2.5 ไมครอนได้อยู่ที่ระหว่าง 90-95% ปัจจุบันงานวิจัยแล้วเสร็จและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์