นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ของไทย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งทุกภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีอากาศร้อนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอเตือนกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคจากคลื่นความร้อนได้ง่าย ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย ผู้ใช้แรงงาน ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคจากความร้อน เป็นภาวะผิดปกติในการตอบสนองของร่างกายต่อการสัมผัสความร้อนสูงกว่าปกติ และไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ ในระดับปกติได้
สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อน ได้แก่ คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแหล่งกำเนิดความร้อนจากเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตที่มีความร้อน เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะและอโลหะ โรงงานผลิตเซรามิค การถลุงเหล็ก การทำแก้ว การทำกระเบื้องเคลือบ การทำเหมืองเปิด การสำรวจแร่ น้ำมัน พนักงานดับเพลิง เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่มีสภาวะแวดล้อมมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ คือ 1.มีอุณหภูมิและความชื้นสูง การสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง 2.สถานที่ไม่มีการระบายอากาศหรือลมพัด 3. ดื่มน้ำน้อย 4. ทำงานที่ต้องใช้พลังงานมาก 5. สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อไม่ดี 6. ไม่เคยชินกับการทำงานในที่มีอากาศร้อนมาก่อน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดในระหว่างปฏิบัติงานเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า การเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อนเกิดขึ้นเมื่อกลไกการระบายความร้อนภายในร่างกายทำงานไม่ถูกต้องตามหน้าที่ ทำงานในที่มีอากาศร้อนหรือได้รับความร้อนโดยตรง จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เนื่องจากในภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ระบบทำงานของศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ ระบบการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายไม่ได้ผลเกิดขึ้นได้ดังนี้ 1. ตะคริวจากความร้อน 2. อาการเหนื่อยล้าจากความร้อน ได้แก่ เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะ วิงเวียน ผิวหนังเปียกชื้น อาจหมดสติ 3. เป็นลมจากความร้อน มีอาการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท ชักหมดสติ และอาจเสียชีวิต
เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อนควรปฏิบัติดังนี้ 1.อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของความร้อนที่อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย และการป้องกันอันตรายจากความร้อน 2. จัดให้มีน้ำเย็นและกระตุ้นให้คนงานดื่มน้ำบ่อยๆ ในระหว่างทำงานที่มีอากาศร้อน อย่างน้อยครั้งละ 1 แก้วทุก 20 นาที 3. จัดให้มีช่วงเวลาพักบ่อยกว่าการทำงานในสภาพปกติ และบริเวณที่พักมีสภาพอากาศไม่ร้อน 4.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 5. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันความร้อนไม่ให้สัมผัสคนงานโดยตรง 6.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาแฟอีน
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย