img
:::

Inside Out 2 สะท้อนอารมณ์หลากหลายของวัยรุ่น แม้แต่อารมณ์เชิงลบก็มีข้อดี

“Inside Out 2” ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของเด็กหญิงที่ก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น พร้อมอารมณ์ใหม่ๆ หลากหลายอารมณ์/ Printerval
“Inside Out 2” ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของเด็กหญิงที่ก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น พร้อมอารมณ์ใหม่ๆ หลากหลายอารมณ์/ Printerval

Inside Out 2” ภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสมาแรง สะท้อนถึงแง่มุมของพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นไว้อย่างน่าสนใจ โดยในภาคสองนี้มาพร้อมกับคาแรกเตอร์อารมณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น และยังมีบางช่วงบางตอนที่ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่อารมณ์เชิงลบก็มีประโยชน์ต่อตัวละครหลักของเรื่องอย่าง “ไรลีย์”

หนังภาคต่อเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มสร้างตัวตนใหม่ของไรลีย์ในช่วงวัยรุ่น ที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นเด็กหญิงในภาคแรก โดยในภาคนี้ได้เธอได้พบกับประสบการณ์ใหม่เข้ามาในชีวิตเธอมากขึ้นไปอีกสเต็ป ส่งผลให้มีอารมณ์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในศูนย์บัญชาการในสมองของไรลีย์ ได้แก่ ว้าวุ่น (ANXIETY), อิจฉา (ENVY), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (EMBARRASSMENT), เฉยชิล (ENNUI) ซึ่งช่วงแรกเธอก็ยังรับมือกับบางอารมณ์ได้ไม่ดีนัก แต่ในท้ายที่สุดเธอก็เรียนรู้และรับมือกับมันได้ในทางที่เหมาะสม

นักวิชาการชี้ พ่อแม่ควรเข้ามาสนับสนุนด้านอารมณ์ให้เด็ก เพื่อที่พวกเขาจะได้รับมือกับอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม/GoodFon

ข้อมูลจากเว็บไซต์อูก้า (OOCA) เครือข่ายการให้บริการด้านสุขภาพจิตในไทย อธิบายไว้ว่า อารมณ์ หมายถึง ภาวะที่เกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ชั่วคราว เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของการเติบโต ช่วยให้คนเราปรับตัวได้ตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งยังเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมต่างๆ โดยอารมณ์ที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์มีทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ ซึ่งทุกอารมณ์จะพัฒนาขึ้นตามวัย ตามประสบการณ์ของคนเรา และการจัดการอารมณ์ให้ได้อย่างเหมาะสมถือเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต

นอกจากนี้ หากลองหยิบประเด็นเรื่อง “การจัดการอารมณ์” จากในหนังมาเทียบกับชีวิตจริงจะพบว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะรับมือกับสภาวะอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมเสมอไป หลายครั้งพ่อแม่หรือครูต้องเผชิญกับปัญหาว่าลูกหรือเด็กในความดูแลแสดงออกทางอารมณ์ที่เข้มข้น (ทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ) เช่น งอแง ร้องไห้โวยวาย อาละวาด การกระโดดโลดเต้น วิ่งไปมา ตะโกนชอบใจ ฯลฯ จนบางครั้งก็เอาไม่อยู่ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้สามารถปรับปรุงได้ด้วย “การสนับสนุนทางอารมณ์” จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูผู้ดูแล ซึ่งอาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี ภาควิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความวิชาการไว้ว่า การสนับสนุนทางอารมณ์ คือการที่ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนว่า กำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และจะทำให้เด็กเริ่มรับฟังเหตุผลมากขึ้นตามลำดับ

ก่อนที่เด็กจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กต้องรู้ก่อนว่าในตอนนั้นตนเองมีอารมณ์อย่างไร (หลายครั้งเด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอารมณ์ไหนกันแน่) เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ พอใจ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและถามไถ่เพื่อให้เด็กตระหนักว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์อย่างไรอยู่ ทำให้เกิดการทบทวนอารมณ์ของตัวเด็กเอง ไปพร้อมๆ กับการสื่อสารให้ผู้ใหญ่เข้าใจตรงกัน เมื่อเด็กรู้ถึงอารมณ์ของตัวเองแล้ว อารมณ์ที่พลุ่งพล่านอยู่ก็จะค่อยๆ สงบลง เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกับเด็กๆ ได้มากขึ้น

อารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้แย่เสมอไป หากมีในระดับพอดีและจัดการอย่างเหมาะสมก็มีประโยชน์และมีข้อดีเช่นกัน/GoodFon

ในระยะยาวเด็กจะเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้เร็วขึ้น ตระหนักรู้อารมณ์แต่ละรูปแบบ นำไปสู่พฤติกรรมการตอบสนองที่เหมาะสมกว่าเดิม เช่น โกรธก็บอกกับอีกฝ่ายดีๆ ว่ากำลังโกรธ หรือนับเลขเพื่อให้อารมณ์ของตนเองเย็นลงก่อนจะพูดคุยกันใหม่ ฯลฯ การที่เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กสามารถสร้างความสัมพันธ์ในสังคมได้ดีกว่า เข้าหาเพื่อนได้ง่ายกว่าอีกด้วย

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading