img
:::

สภาวิศวกรเสนอโมเดลแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมือง

สภาวิศวกรเสนอโมเดลแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมือง

สำนักข่าวเดลินิวส์รายงานว่า เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจากอิทธิพลของร่องมรสุมในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีฝนตกหนักจนกลายเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้แต่กรุงเทพมหานครก็พบว่าหลายจุดมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนักก็เกิดปัญหาน้ำท่วมในชุมชนเมือง ทางสภาวิศวกรจึงเสนอทางเลือกต่อรัฐบาล เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำ และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง เป็นภัยที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบโครงสร้างทางวิศวกรรม และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ สภาวิศวกรจึงได้นำข้อเท็จจริงใน 2 พื้นที่มาวิเคราะห์โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เห็นตรงกันว่าพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำของไทย ควรจัดทำแก้มลิง และ ระบบท่อใต้ดิน ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก แก้มลิง เป็นการปรับพื้นที่แอ่ง บึง ทะเลสาบขนาดเล็ก ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนัก สภาวิศวกรจึงมั่นใจว่าแนวทางนี้จะสามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ แต่ติดปัญหาตรงที่ชุมชนเมืองค่อนข้างอัดแน่นเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัย มีข้อกำจัดในการทำแก้มลิง ต้องใช้ระบบท่อใต้ดิน และวางเครือข่ายไว้ใต้ดินเพื่อระบายน้ำแทน อาทิ วางท่อไว้ใต้ถนน สวนสาธารณะ จะได้เสียพื้นที่ สิ้นเปลืองงบประมาณน้อย เพราะไม่ต้องเวนคืน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ก่อนจะระบายออกลงสู่อ่าวไทย มีหลายจุดที่อ่อนไหว โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกันยายนมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่าน  สภาวิศวกรได้ จัดโซนนิ่ง วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหลายจุดอยู่ในภาวะวิกฤติ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน.

ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สภาวิศวกร กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน มีจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงน้ำท่วมขัง เนื่องจากศักยภาพรองรับน้ำฝนจำกัดเพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และการระบายน้ำเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง อาทิ ท่อขนาดเล็ก ขยะที่อุดตันตามท่อระบายน้ำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลงอีก โดยในช่วงฝนตกหนัก โครงสร้างด้านวิศวกรรมต้องเฝ้าระวัง 2 ประเภท คือ โครงสร้างระบบชลประทาน อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ และสิ่งปลูกสร้างในเส้นทางน้ำหลาก ได้แก่ แนวคันกั้นน้ำ เชิงสะพาน โรงพยาบาล สถานศึกษา โบราณสถาน เส้นทางคมนาคม นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีแนวทางจัดการภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ได้มาตรฐานสากล มีแนวทางบริหารจัดการไฟฟ้า ตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะมีความเสี่ยงอาจเกิดไฟรั่ว ไฟช็อต เป็นอันตรายต่อชาวบ้าน

ปิดท้ายที่ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติและความปลอดภัยสาธารณะ สภาวิศวกร และที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาบริเวณริมแม่น้ำมูล และริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งในฤดูน้ำหลากซ้ำซากทุกปี โดยฝนที่ตกหนักส่งผลทำให้สิ่งปลูกสร้างโครงสร้างไม่แข็งแรง ไม่ได้รับการซ่อมแซมตามอายุใช้งาน อาจได้รับผลกระทบเกิดปัญหาหลังคารั่ว ฝ้าเพดานถล่ม อันตรายจากลมแรง กระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน จึงต้องหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีระบบพยากรณ์อากาศใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีความแม่นยำ ก็จะช่วยลดความสูญเสียให้น้อยลงได้

ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์

ข่าวเด่นประเด็นร้อน

:::
ข่าวล่าสุด 最新消息icon
回到頁首icon
Loading