นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำหลักสูตรการดูแลจิตใจด้วยตนเอง เพื่อปรับตัวเข้าสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่สงสัยว่าติดเชื้อ ต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน /กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง /กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง แต่ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ /และกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรงมาก ที่ต้องรักษาตัวอยู่ในไอซียู ใช้เป็นแนวทางในการจัดการความเครียดของตนเอง โดยการที่จะมีร่างกายแข็งแรงได้นั้น ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งด้วย
โดยหลักสูตรดังกล่าว เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจในการดูแลตนเอง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการฝึกสมาธิและสติในแนวสุขภาพจิต โดยรูปแบบกิจกรรม จะเป็นการอธิบายและแนะนำวิธีการฝึกปฏิบัติ ซึ่งสามารถฝึกตามได้ มีทั้งหมด 8 ครั้ง (8 วัน) วันละ 20-30 นาที หลังจากนั้นควรฝึกทุกวันเพื่อให้เป็นฐานชีวิตใหม่ ร่วมไปกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติทั้งในการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลและการดำเนินชีวิตตามมาตรการทางสังคม สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความเครียดจากภาระงานและความเสี่ยงที่เพิ่มมาก ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด ติดตาม และเริ่มฝึกได้ตั้งแต่วันนี้ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.thaidmh-elibrary.org/videocovid19 Facebook และ YouTube ของกรมสุขภาพจิต
นายแพทย์จุมภฎ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการดูแลสภาพจิตใจ ถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในช่วงสถานการณ์วิกฤตด้วยว่า กรมฯได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดูแลสภาพจิตใจและหาแนวทางที่เหมาะสมให้กับกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ในระยะสั้น จะค้นหากลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่อยู่ในเขตเมือง โดยจะมีการส่งต่อข้อมูลไปยังพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ส่วนมาตรการในระยะยาวมองว่าปัญหาการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องได้รับการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ทั้งนี้จะมีการป้องกันและติดตามกรณีผู้ที่คิดฆ่าตัวตายที่ไม่สำเร็จ โดยจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ไปติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสภาพจิตใจและให้คำแนะนำต่างๆ ว่าจะสามารถรองรับการสนับสนุนทางด้านสังคมได้จากหน่วยงานใดได้บ้าง
ข้อมูลข่าวจาก กรมประชาสัมพันธ์