สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค. ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) และภาคเอกชน โชว์นวัตกรรมถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ ผลงานการวิจัยจากแล็บสู่การขยายผลเพื่อใช้งานจริง ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม.
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า เอ็มเทค ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพ โดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมีมากในประเทศไทย นำมาผ่านกระบวนการทางการวิจัยที่มีส่วนผสมของแป้งมันสำปะหลังสูงเกือบร้อยละ 50 ผสมกับพลาสติกแบบย่อยสลายได้มาแปรรูปเป็นพลาสติกรูปแบบใหม่ โดยมีการปรับสูตรเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางวิศวกรรมให้มีความทนทาน มีความเหนียว สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง ได้เป็นถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ โดยถุงชนิดนี้จะช่วยในการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ไปพร้อมกับถุงพลาสติกย่อยสลายได้ในระยะเวลาสั้น
สวทช. เอ็มเทค และพันธมิตรภาคเอกชน จะส่งถุงพลาสติกสลายตัวได้ ให้กับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ภายในงานกาชาด ประจำปี 2562 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-24 พ.ย. นี้ ณ สวน ลุมพินี เป็นครั้งแรกกว่า 13,000 ใบ
ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก เอ็มเทค กล่าวว่าถุงพลาสติกย่อยสลายได้ มีจุดเด่นที่ส่วนผสมมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอมได้เป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักรเดิมในโรงงาน ได้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใช้คัดแยกขยะอินทรีย์ 2 ขนาด ซึ่งช่วยในการจัดการขยะของพนักงานได้สะดวก และปลอดภัย รองรับน้ำหนักได้กว่า 10 กิโลกรัม โดยถุงและขยะภายในจะย่อยสลายไปพร้อมกัน ซึ่งจุลินทรีย์จากถุงพลาสติกย่อยสลายได้จะช่วยเร่งปฏิกิรยาให้เกิดการย่อยสลายเร็วขึ้นภายใน 30 – 90 วัน
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวไทย