ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิมักจะทะลุ 36 องศา อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่มีสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปีก่อนๆ หากคุณออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น แต่ไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมก็อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากความร้อนได้ การที่ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนในฤดูร้อน นายหวัง อิงเหว่ย (王英偉) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารการส่งเสริมสุขภาพเตือนให้ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งปฎิบัติตาม 5 มาตรการป้องกันตนเอง ดังนี้
1. ให้ความสนใจกับสภาพร่างกายของคุณ: เมื่อคุณทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีอากาศร้อนอาจทำให้เกิดการอ่อนเพลียจากความร้อน อาการชัก และโรคลมแดด ดังนั้นคุณต้องใส่ใจกับสภาพร่างกายของคุณก่อนทำกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะร่วมในการแข่งขันกีฬาต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ในการเตรียมร่างกายสำหรับ "การปรับความร้อน"
2. เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศและเหงื่อได้ดี: สวมใส่เสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับการออกกำลังกายและสภาพแวดล้อม ขอแนะนำให้เลือกเสื้อผ้าแขนยาวสีอ่อนระบายอากาศและเหงื่อได้ดี เพื่อให้ผิวหนังลดการสัมผัสโดยตรงกับดวงอาทิตย์ และใช้ครีมกันแดดและหมวกให้เหมาะสมด้วย
3. หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่แสงแดดแรง: ในช่วงฤดูร้อนช่วงเวลาที่มีแดดแรงที่สุดคือ 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น ดังนั้นจึงควรเลือกเวลาในช่วงเช้าหรือเย็นที่มีอากาศที่เย็นกว่าในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือย้ายไปทำกิจกรรมในร่มที่มีอากาศถ่ายเท เพื่อลดโอกาสในการได้รับแสงจำนวนมาก
4. จิบน้ำทีละนิดบ่อยๆ: ในขณะที่ออกกำลังกายควรจิบน้ำทีละนิดบ่อยๆ ทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำ 2-4 แก้ว (1 แก้ว 240 ซีซี) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจำนวนมาก หากคุณมีโรคหัวใจ โรคตับเรื้อรัง หรือจำเป็นต้องจำกัดการดื่มน้ำ ก็ต้องปรึกษาแพทย์ของคุณเพื่อขอคำแนะนำ
5. การออกกำลังกายเป็นประจำ: เข้าใจขีดจำกัดของตัวเอง ออกกำลังกายในระดับที่คุณรู้สึกสบาย หลีกเลียงการบังคับตนเองมากเกินไปซึ่งเกินความสามารถทางกายภาพของคุณ
สำนักงานบริหารการส่งเสริมสุขภาพเตือนให้คุณทราบถึงความแตกต่างและสัญญาณของอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมแดด เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นเวลานานหรือออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมากจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ จะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีผิวหนังที่เปียกและเย็น ส่วนโรคลมแดดเกิดขึ้นเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักจนการผลิตความร้อนของร่างกายเกินความสามารถในการกระจายความร้อนเป็นอย่างมาก และมีอาการกระหายน้ำ มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น จนกระทั่งหมดสติ ให้ทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงทันที และทำการลดอุณหภูมิโดยด่วน (ถอดหรือปลดเสื้อผ้าให้หลวม ใช้พัดช่วยพัด เป็นต้น) หากมีสติขึ้นมาก็สามารถให้น้ำเย็นที่ผสมเกลือเล็กน้อยหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เจือจางได้ และรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด